การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย กรณีการโอนอสังหาริมทรัพย์จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ข้อเท็จจริง1. เดิมบริษัท ก ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดที่ดิน อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร ไว้ กับธนาคารฯ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 จำนวนเงินรวม 57,000,000.- บาท ต่อมาธนาคารฯ ได้จดทะเบียนโอนสิทธิการรับจำนองที่ดินทั้งสองโฉนดให้แก่บริษัท บ 2. ต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2545 ระหว่างที่พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 399) พ.ศ. 2545 ให้ยกเว้นภาษีอากรสำหรับจำนวนเงินที่ได้รับจากการโอนอสังหาริมทรัพย์ของลูกหนี้ของ สถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น กรณีปรับปรุงโครงสร้างหนี้ยังมีผลใช้บังคับ บริษัท ก ได้จดทะเบียนขายที่ดิน ดังกล่าวในระหว่างจำนอง ให้แก่นาย ส ในราคา 47,300,000.- บาท เพื่อนำเงินไปชำระหนี้ให้แก่ บริษัท บ ผู้รับจำนอง ตามสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้โดยผู้ซื้อรับภาระจำนองและภาระหนี้ตาม สัญญาจำนอง ลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2539 จำนวนเงิน 57,000,000.- บาท 3. พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมประเมินราคาที่ดินดังกล่าวเป็นเงิน 54,280,000.- บาท และได้เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย โดยยกเว้นให้สำหรับ จำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ 47,300,000.- บาท และเรียกเก็บร้อยละ 1.0 จากส่วนต่างระหว่าง ราคาประเมินทุนทรัพย์กับจำนวนเงินที่นำไปชำระหนี้ (54,280,000 - 47,300,000 = 6,980,000) เป็นเงิน 69,800.- บาท โดยไม่ได้นำภาระหนี้จำนองที่ผู้ซื้อรับไปมารวมกับจำนวนเงินที่ได้มีการชำระ ให้แก่ผู้ขายที่ดิน (ลูกหนี้) เพื่อถือเป็นราคาขายในการคำนวณเรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก ณ ที่จ่าย ส่วนภาษีธุรกิจเฉพาะ พนักงานเจ้าหน้าที่ได้เรียกเก็บโดยยกเว้นให้สำหรับจำนวนเงิน 47,000,000.- บาท และเรียกเก็บร้อยละ 0.11 จากภาระหนี้จำนองที่ผู้ซื้อรับไปจำนวน 57,000,000.- บาท เป็น 62,700.- บาท 4. กรมที่ดินเห็นว่า เพื่อให้การปฏิบัติตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 ซึ่ง เป็นฉบับที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นไปโดยถูกต้อง จึงหารือว่า กรณีผู้ขายที่ดิน (ลูกหนี้) ขายที่ดินที่ จำนองไว้กับสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็น สถาบันการเงิน เพื่อนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน โดยได้ขายไปในระหว่าง วันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 และเป็นการขายติดจำนองโดยผู้ซื้อยอมรับภาระหนี้ จำนองแทนผู้ขายที่ดิน (ลูกหนี้) ภาระหนี้จำนองที่ผู้ซื้อรับไปเป็นเงินได้ของผู้ขายที่ดิน (ลูกหนี้) ที่ได้รับ ยกเว้นภาษีอากรตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 หรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547แนววินิจฉัยกรณีดังกล่าวหากลูกหนี้ของสถาบันการเงิน ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ตาม หลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศกำหนด ได้ จดทะเบียนขายที่ดินที่ได้จำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินอยู่ก่อนวันที่ 1 พฤศจิกายน 2543 ไม่ว่า การขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นการขายโดยปลอดจำนองหรือติดจำนอง ให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่ เป็นสถาบันการเงิน โดยได้ขายไปในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2547 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2547 และ ได้นำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ไปชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินดังกล่าว เงินได้ที่ได้ รับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวเฉพาะส่วนที่ไม่เกินกว่าหนี้ที่ค้างชำระอยู่กับสถาบันการเงิน ย่อม ได้รับยกเว้นภาษีอากรตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 กรณีลูกหนี้ขายที่ดินโดยติด ภาระจำนองให้แก่ผู้อื่นซึ่งมิใช่เจ้าหนี้ที่เป็นสถาบันการเงิน ภาระจำนองที่ผู้ซื้อรับภาระไปดังกล่าวผู้ขายจะ ต้องนำมาคำนวณเป็นรายได้หรือรายรับจากการขายอสังหาริมทรัพย์ในการคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ด้วย ดังนั้น ภาระจำนองที่ติดไปกับที่ดินดังกล่าวที่มิใช่จำนวนเงินที่ ลูกหนี้ได้นำไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้สถาบันการเงิน ย่อมไม่ได้รับยกเว้นภาษีอากร ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 418) พ.ศ. 2547 แต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/6634 ลงวันที่ 14 กรกฎาคม 2547 |