Skip to Content

การค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าซ่อมแซมอาคาร

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีค่าซ่อมแซมอาคาร


ข้อเท็จจริง

บริษัท ท. (บริษัทฯ) ประกอบกิจการผลิตและขายหม้อกำเนิดไอน้ำ บริษัทฯ มีสินทรัพย์ถาวรซึ่งไม่รวมที่ดินมูลค่าไม่เกิน สองร้อยล้านบาท และมีการจ้างแรงงานไม่เกินสองร้อยคน เนื่องจากอาคารโรงงานมีสภาพทรุดโทรม บริษัทฯ จึงได้ทำสัญญาจ้าง ก่อสร้างกับผู้รับจ้างให้ซ่อมแซมอาคารโรงงานเป็นเงินค่าจ้าง 5 ล้านบาท แยกทำสัญญาเป็น 5 ฉบับ สาระสำคัญของการซ่อมแซมได้แก่ เปลี่ยนแผงหลังคาโรงงาน และเทคอนกรีตยกระดับพื้นที่นอกโรงงาน และจุดที่ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายชิ้นงานข้ามฝั่งโรงงาน

บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. บริษัทฯ มีสิทธินำค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมในรอบระยะเวลาบัญชีที่ซ่อมมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้หรือไม่

2. หากบริษัทฯ ไม่มีสิทธินำมาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา ของทรัพย์สิน ตามมาตรา 4 เบญจ แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อม ราคาของทรัพย์สิน (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 ได้หรือไม่

3. หากไม่มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินตามพระราชกฤษฎีกา ฉบับดังกล่าวได้ บริษัทฯ จะหักค่าเสื่อม ราคาตามวิธีแบบอัตราเร่ง (Double Declining Method) ได้หรือไม่ ในขณะที่ทรัพย์สินอื่น ๆ ของบริษัทฯ หักค่าเสื่อมราคาตามวิธี แบบเส้นตรง (Straight Line Method)


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 65 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณี บริษัทฯ เปลี่ยนแผงหลังคาโรงงาน และเทคอนกรีตยกระดับพื้นที่นอกโรงงาน และจุดที่ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายชิ้นงาน ข้ามฝั่งโรงงาน ตามสัญญาว่าจ้างติดตั้งหลังคา Metal Sheet ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2551 และสัญญาจ้างก่อสร้างงานทำพื้นยกระดับ นอกโรงงาน ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2551เป็นการทำให้ดีขึ้นซึ่งทรัพย์สิน ถือเป็นรายจ่ายอันมีลักษณะเป็นการลงทุน ก่อให้เกิดประโยชน์ เกินกว่าหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี บริษัทฯ มีสิทธินำไปหักเป็นค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน มาตรา 65 ทวิ (2) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับมาตรา 4 (5) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527 หากบริษัทฯ เปลี่ยนแผงหลังคาโรงงาน และ เทคอนกรีตยกระดับพื้นที่นอกโรงงาน และจุดที่ใช้สำหรับเคลื่อนย้ายชิ้นงานข้ามฝั่งโรงงาน โดยมิได้มีการรื้อหรือทำลายทรัพย์สินนั้น ทั้งหมด บริษัทฯ จะนำค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินส่วนที่ยังตัดไม่หมดไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้ง จำนวนไม่ได้ ต้องหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต่อไปจนหมด เว้นแต่บริษัทฯ ได้มีการรื้อหรือทำลายทรัพย์สินนั้น บริษัทฯ จึงมีสิทธิ ตัดต้นทุนที่เหลืออยู่เป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิทั้งจำนวนในปีที่มีการรื้อหรือทำลายได้

อนึ่ง การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาต้นทุนดังกล่าวต้องหักในฐานะเป็นมูลค่าต้นทุนของอาคารถาวร ซึ่งบริษัทฯ หักได้ไม่เกินร้อยละ 5 ของมูลค่าต้นทุนนั้น ตามมาตรา 4(1) แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527

2. ในการหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สิน เมื่อบริษัทฯ ได้เลือกใช้วิธีการทางบัญชีที่รับรองทั่วไป และอัตราที่จะหัก อย่างใดแล้ว ให้ใช้วิธีการทางบัญชีและอัตรานั้นตลอดไป จะเปลี่ยนแปลงได้ต่อเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรหรือผู้ที่อธิบดี กรมสรรพากรมอบหมาย ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 145) พ.ศ. 2527




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0702/2933 ลงวันที่ 20 เมษายน 2552

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)