Skip to Content

การคำนวณเครดิตเงินปันผล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล

เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล


ข้อเท็จจริง

บริษัท ป. เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยประกอบกิจการลงทุนในบริษัทต่างๆ (Holding Company) โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในบริษัทในเครือไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของหุ้นทั้งหมดที่มีสิทธิออกเสียง และในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ ได้รับเงินปันผลจากบริษัทในเครือซึ่งผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลแล้ว จำนวน 100 ล้านบาท เงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับนี้เป็นรายได้ที่บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 บริษัทฯ มีกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ จำนวน 50 ล้านบาท แต่มีผลขาดทุนสุทธิทางภาษียกมาไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญช ี จำนวน 70 ล้านบาท ทำให้บริษัทฯ ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีมติประกาศจ่ายเงินปันผลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 ให้แก่ผู้ถือหุ้น โดยจ่ายจากกำไรสุทธิทางบัญชี (แต่ทางภาษีอากรขาดทุนสุทธิ) จำนวน 150 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทในเครือเดียวกัน จำนวน 100 ล้านบาท และกำไรจากการประกอบกิจการของบริษัทฯ จำนวน 50 ล้านบาท บริษัทฯ จึงขอทราบว่า

1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือ จำนวน 100 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่

2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรจากการประกอบกิจการ จำนวน 50 ล้านบาท ให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวไม่มีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผล เพราะกำไรที่นำมาจ่ายเงินปันผลยังไม่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เนื่องจากถูกหักด้วยผลขาดทุนสุทธิใช่หรือไม่

3. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ไม่ว่าจะได้รับมาหลายทอดก็ตามให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หากบริษัทฯ สามารถพิสูจน์ได้ว่า เงินปันผลดังกล่าวเข้าลักษณะเหตุผลตาม 1 ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลใช่หรือไม่

4. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับใช่หรือไม่


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 47 ทวิ และมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลที่ได้รับจากบริษัทในเครือ ซึ่งเงินปันผลดังกล่าว บริษัทฯ ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามมาตรา 65 ทวิ (10) แห่งประมวลรัษฎากร แต่เงินปันผลดังกล่าวบริษัทในเครือได้จ่ายจากกำไรที่ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลก่อนแล้ว ดังนั้น เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากจำนวนเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับมาจากบริษัทในเครือให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

2. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิทางบัญชี ซึ่งเงินปันผลดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการประกอบกิจการ จำนวน 50 ล้านบาท เพราะบริษัทฯ ได้นำผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกิน 5 ปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปี 2548 มาหัก ดังนั้น เงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาได้รับจากบริษัทฯ จึงไม่ได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

3. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากเงินปันผลที่บริษัทฯ ได้รับจากบริษัทในเครือไม่ว่าจะได้รับมากี่ทอดก็ตามให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา หากบริษัทในเครือได้จ่ายเงินปันผลจากกำไรที่ได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้ว และบริษัทฯ ทราบโดยชัดแจ้งว่า เงินปันผลจากกำไรสุทธิที่บริษัทฯ ได้รับมาจากบริษัทในเครือได้มีการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไปก่อนแล้วในอัตราเท่าใด เมื่อบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลจากกำไรสุทธิที่คำนวณได้จากเงินปันผลที่ได้รับมาจากบริษัทในเครือโดยระบุในหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย อย่างชัดเจนว่า เงินปันผลที่จ่ายนั้น จำนวนใดมาจากเงินปันผลที่เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราเท่าใดให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา ผู้ถือหุ้นดังกล่าวย่อมมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีเงินปันผลตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร

4. กรณีบริษัทฯ จ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10 ของเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นได้รับตามมาตรา 50(2)(จ) แห่งประมวลรัษฎากร




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2156 ลงวันที่ 14 มีนาคม 2549

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)