การคำนวณเครดิตภาษีเงินปันผล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรและการเครดิตภาษี
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรและการเครดิตภาษีข้อเท็จจริงห้างฯ มีผู้เป็นหุ้นส่วน จำนวน 4 คน ประกอบกิจการมีกำไรจึงได้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรที่สะสมมาตั้งแต่รอบระยะ เวลาบัญชีปี 2546 เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2549 เป็นจำนวน 1,378,700 บาท แต่เนื่องจากผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดของห้างฯ เป็นหนี้ห้างฯ ห้างฯ จึงนำหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด จำนวน 1,200,000 บาท มาหักออกจากเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าว เงินส่วนแบ่งของกำไรส่วนที่เหลือ ห้างฯ ได้จ่ายให้กับผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน และห้างฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตรา ร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไร เป็นจำนวนเงิน 137,870 บาท ห้างฯ จึงขอหารือ ดังนี้ 1. เงินส่วนแบ่งของกำไร ที่ห้างฯ สะสมมาตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 ห้างฯ นำมาจ่ายในปี พ.ศ. 2549 ได้หรือไม่ 2. ห้างฯ จะนำหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมดมาหักออกจากเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะได้รับ ได้หรือไม่ และผู้เป็นหุ้นส่วนจะมีสิทธิเครดิตภาษีจากการจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัย1. การจ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรตาม 1.เป็นกรณีที่ห้างฯ จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่ง และพาณิชย์ 2. ห้างฯ จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรที่สะสมมาตั้งแต่รอบระยะเวลาบัญชีปี 2546 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2549 จำนวน 1,378,700 บาท โดยนำหนี้ของผู้เป็นหุ้นส่วนทั้งหมด จำนวน 1,200,000 บาท มาหักออกจากเงินส่วนแบ่งของกำไร แล้วจึงนำเงินส่วนแบ่งของกำไรที่เหลือจ่ายให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคน โดยห้างฯ ได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ใน อัตราร้อยละ 10 ของเงินส่วนแบ่งของกำไรทั้งหมดไว้แล้ว ถือได้ว่า กรณีดังกล่าว ห้างฯ ได้จ่ายเงินส่วนแบ่งของกำไรแก่ ผู้เป็นหุ้นส่วน เป็นจำนวน 1,378,700 บาท โดยได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายไว้ในอัตราร้อยละ 10 แล้ว ดังนั้น ผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างฯ แต่ละคนที่ได้รับเงินส่วนแบ่งของกำไรดังกล่าวจากห้างฯ ซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40(4)(ข) แห่งประมวลรัษฎากร จึงมีสิทธิได้รับเครดิตภาษีตามส่วนของเงินส่วนแบ่งของกำไรที่ได้รับตามมาตรา 47 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/593 ลงวันที่ 25 มกราคม 2551 |