การขาย ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการของสาขานิติบุคคลต่างประเทศ
เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการโอนกิจการของสาขานิติบุคคลต่างประเทศข้อเท็จจริงบริษัทฯ ได้หารือข้อกฎหมาย กรณีการโอนกิจการของสาขานิติบุคคลต่างประเทศ โดยปรากฏ ข้อเท็จจริงดังนี้ 1. บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ประกอบกิจการขายสินค้าในประเทศไทย โดยได้รับอนุญาตจากกรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2515 และ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี พ.ศ. 2535 2. บริษัท ว. (ประเทศไทย) จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย โดยมีบริษัทฯ เป็นผู้ถือหุ้นจำนวน 1,938 หุ้น และบริษัท ค. บริษัทซึ่งจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายไทยและเป็นบริษัทในเครือเดียวกันอีกแห่งหนึ่ง ของบริษัท ว. ในประเทศญี่ปุ่น ถือหุ้นจำนวน 2,018 หุ้น จากจำนวนหุ้นทั้งสิ้น 4,000 หุ้น บริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด ประกอบกิจการขายสินค้าในประเทศไทย จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อปี พ.ศ. 2535 3. เนื่องจากบริษัทฯ จะทำการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และอยู่ระหว่าง การวางแผนเพื่อปรับปรุงองค์กรธุรกิจในประเทศไทย จึงต้องการโอนทรัพย์สิน หนี้สิน ตลอดจนพนักงาน ของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทฯ จะไม่ยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ แต่จะจดทะเบียนแจ้งเลิกกิจการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามข้อมูลงบการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2545 บริษัทฯ มีฐานะการเงินดังนี้ สินทรัพย์รวม 289,285,418 บาท รวมหนี้สินหมุนเวียน 306,423,609 บาท ขาดทุนสะสม 17,138,191 บาท 4. บริษัทฯ หารือว่า 4.1 บริษัทฯ จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น เมื่อบริษัทฯ จะโอนกิจการทั้งหมด ของสาขาในประเทศไทย บริษัทฯ ไม่ต้องจดทะเบียนเลิกบริษัทฯ จึงขอทราบว่า 4.1.1 บริษัทฯ มีสิทธิโอนสินทรัพย์ถาวร และสินค้าคงเหลือให้แก่บริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด ผู้รับโอน ด้วยราคาสุทธิทางบัญชี ณ วันโอนได้หรือไม่ 4.1.2 บริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด มีสิทธิหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาตาม มูลค่าต้นทุนที่เหลืออยู่ของทรัพย์สินที่รับโอนนั้น ภายใต้เงื่อนไขและระยะเวลาที่เหลืออยู่ตามมาตรา 74(1)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร หรือไม่ 4.2 เนื่องจากบริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน บริษัทฯ เข้าใจว่า การโอนทรัพย์สินรวมทั้งสินค้าคงเหลือของบริษัทฯ จะไม่ถือเป็นการขาย บริษัทฯ จึงไม่มี ความรับผิดต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่งประมวลรัษฎากร เนื่องจากเป็นการ โอนกิจการทั้งหมด ความเข้าใจของบริษัทฯ ถูกต้องหรือไม่ 4.3 กรณีบริษัทฯ จะยกเลิกใบอนุญาตประกอบธุรกิจกับกรมทะเบียนการค้า ผลทางภาษีจะ เปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ อย่างไร กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 66, มาตรา 74(1)(ข)(ค), มาตรา 65 ทวิ, มาตรา 77/1(8)(ฉ)แนววินิจฉัย1. บริษัทฯ เป็นนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ดำเนินกิจการเพื่อ การค้าหรือหากำไรในประเทศไทย จึงเข้าลักษณะเป็น "บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องเสียภาษีในกำไรสุทธิจากกิจการหรือเนื่องจากกิจการที่ได้ กระทำในประเทศไทยในรอบระยะเวลาบัญชี ตามมาตรา 66 แห่งประมวลรัษฎากร 2. กรณีบริษัทฯ จะทำการโอนทรัพย์สิน สินค้า และหนี้สินของบริษัทฯ ให้แก่บริษัท คาวาโช คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือเดียวกัน การตีราคาทรัพย์สินที่โอน และการ หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินที่รับโอน พิจารณาได้ดังนี้ 2.1 กรณีบริษัทฯ ผู้โอนได้แจ้งเลิกการประกอบธุรกิจต่อนายทะเบียนพร้อมด้วยใบอนุญาต ประกอบธุรกิจ ตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ประกอบกับข้อ 1 ของกฎกระทรวง กำหนดแบบและวิธีการแจ้งการเลิกประกอบธุรกิจหรือย้ายสำนักงาน หรือสถานที่ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2544 ถือเป็นการแจ้งเลิกกิจการ หากบริษัทฯ มีการ ชำระบัญชีในรอบระยะเวลาบัญชีที่โอนกิจการนั้น การตีราคาทรัพย์สินที่โอนให้ตีตามราคาตลาดในวันที่แจ้ง เลิก และไม่ให้ถือว่าราคาดังกล่าวเป็นรายได้หรือรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิของ บริษัทฯ ผู้โอน และให้บริษัท ว. (ประเทศไทย) ผู้รับโอน ถือราคาทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาตามราคาที่ ปรากฏในบัญชีของบริษัทฯ ผู้โอนในวันที่รับโอนกิจการเพื่อประโยชน์ในการคำนวณกำไรสุทธิหรือ ขาดทุนสุทธิจนกว่าจะได้มีการจำหน่ายทรัพย์สินนั้นไป ทรัพย์สินรายการใดมีสิทธิหัก ค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาก็ให้หักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาในการคำนวณกำไรสุทธิหรือขาดทุนสุทธิ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่บริษัทฯ ผู้โอน ใช้อยู่เพียงเท่าที่ระยะเวลาและมูลค่าต้นทุนที่ เหลืออยู่สำหรับทรัพย์สินนั้นเท่านั้น ทั้งนี้ ตามมาตรา 74(1)(ข) และ (ค) แห่งประมวลรัษฎากร 2.2 กรณีบริษัทฯ ผู้โอน ไม่ได้แจ้งเลิกการประกอบกิจการต่อนายทะเบียนพร้อมด้วย ใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ถือว่าบริษัทฯ ไม่มีความประสงค์ที่จะเลิกการประกอบกิจการ ดังนั้น การ โอนทรัพย์สินของบริษัทฯ ให้แก่ บริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด จึงถือเป็นการขาย บริษัทฯ ต้อง ตีราคาทรัพย์สินที่ขายตามราคาตลาด ณ วันที่โอน ตามมาตรา 65 ทวิ(4) แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับ การหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินของบริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัดผู้รับโอน ให้ถือมูลค่า ต้นทุนของทรัพย์สินตามราคาตลาดที่รับโอนมา 3. กรณีบริษัทฯ โอนกิจการของบริษัทฯ ให้กับบริษัท ว. (ประเทศไทย) จำกัด โดยได้แจ้ง เลิกการประกอบกิจการในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม หากบริษัทฯ มิได้ประกอบกิจการอื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสีย ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือไม่มีรายได้อื่นอันอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การโอนกิจการดังกล่าวถือเป็น การโอนกิจการทั้งหมดให้แก่ผู้รับโอน ไม่เข้าลักษณะเป็นการขายตามมาตรา 77/1(8)(ฉ) แห่ง ประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้โอน จึงไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/2982 ลงวันที่ 26 มีนาคม 2546 |