การขายอสังหาริมทรัพย์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดก
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ได้มาโดยทางมรดกข้อเท็จจริงเจ้ามรดกตายเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 มีทายาทที่มีสิทธิรับมรดกรวม 11 คนหรือ 16 คน มีทรัพย์มรดกคือ ที่ดิน เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 ผู้จัดการมรดกได้โอนสิทธิครอบครองในที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงให้แก่นายประสานฯ และนายประสานฯ ได้ขายที่ดินแปลงนั้นไปเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2547 ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินคำนวณภาษีเงินได้โดยถือว่านายประสานฯ ถือครองที่ดินเป็นเวลา 1 ปี และหักภาษี ณ ที่จ่าย เป็นจำนวนเงิน 478,767.- บาท ต่อมากรมที่ดินได้ตรวจสอบและมีความเห็นว่า นายประสานฯ ได้ถือครองที่ดินแปลงดังกล่าวทั้งแปลงตั้งแต่วันที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตายมิใช่ตั้งแต่วันที่ผู้จัดการมรดกโอนสิทธิครอบครองในที่ดินให้แก่นายประสานฯ นายประสานฯ จึงถือครองที่ดินเกิน 10 ปี เจ้าพนักงานที่ดิน จึงคำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ผิดพลาดโดยหักไว้เกินเป็นเงิน 317,511.- บาท จึงแจ้งให้นายประสานฯ ขอคืนภาษี กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากรแนววินิจฉัยกรณีเมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตายทรัพย์มรดก อันได้แก่ที่ดิน ย่อมตกได้แก่ นายประสานฯ และทายาททุกคน (รวม 11 คน หรือ 16 คน) โดยทันทีตามมาตรา 1599 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยนายประสานฯ ได้สิทธิครอบครองจำนวน 1 ใน 11 ส่วนหรือ 1 ใน 16 ส่วน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2520 (วันที่เจ้ามรดกตาย) ซึ่งสิทธิดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิที่จะเรียกร้องในทรัพย์มรดกในส่วนของตนเท่านั้นและยังไม่มีทรัพยสิทธิเหนืออสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกจนกว่าจะได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และทายาททุกคนเป็นเจ้าของและมีสิทธิร่วมกันในที่ดินแปลงดังกล่าวตามมาตรา 1745 และมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ต่อมาได้มีการจดทะเบียนที่ดินเป็นชื่อของผู้จัดการมรดกจึงเป็นการจัดการทรัพย์มรดกตามมาตรา 1719 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และไม่มีข้อเท็จจริงใดแสดงให้เห็นว่าผู้จัดการมรดกได้เปลี่ยนลักษณะการยึดถือตามมาตรา 1381 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อผู้จัดการมรดกได้โอนที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่นายประสานฯ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2547 ก็เป็นการจัดการทรัพย์มรดก โดยให้นายประสานฯ มีสิทธิครอบครองที่ดินแต่เพียงผู้เดียว นายประสานฯ จึงมีสิทธิครอบครองสมบูรณ์ตามกฎหมายในที่ดินดังกล่าว ในวันที่ 18 มีนาคม 2547 (วันที่จดทะเบียนโอนที่ดินจากผู้จัดการมรดกมาเป็นของนายประสานฯ) ซึ่งการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมย่อมสมบูรณ์เมื่อได้จดทะเบียนการได้มาต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 1299 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การนับจำนวนปีที่ถือครองเพื่อใช้คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 48(4)(ก) แห่งประมวลรัษฎากร จึงเริ่มนับตั้งแต่ปีที่ได้กรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ถึงปีที่โอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น จึงถือว่านายประสานฯ ได้สิทธิครอบครองสมบูรณ์ตามกฎหมายในที่ดินแปลงดังกล่าวตั้งแต่วันที่ผู้จัดการมรดกจดทะเบียนโอนที่ดินให้กับนายประสานฯ คือวันที่ 18 มีนาคม 254 ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0706/5430 ลงวันที่ 04 กรกฎาคม 2548 |