การขายอสังหาริมทรัพย์ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์
เรื่อง ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย กรณีการขายอสังหาริมทรัพย์ข้อเท็จจริงบริษัท ก. จำกัด นางสาว ข. และนาย ค. ได้จดทะเบียนขายที่ดิน ให้กับบริษัท ง. จำกัด เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2540 ราคาขายเป็นเงิน 148,000,000 บาท ราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม เป็นเงิน 72,640,000 บาท โดยบริษัท ก. จำกัด แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ว่าได้รับเงินจากการขายที่ดิน เป็นเงิน 30,000,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้คำนวณ ภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนของบริษัทฯอัตราร้อยละ 1 จากทุนทรัพย์ 30,000,000 บาท เป็นเงิน 300,000 บาท ส่วนนางสาว ข. และนาย ค. ได้รับเงินคนละ 59,000,000 บาท เจ้าหน้าที่ได้ คำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรม 72,640,000 บาท และแยกคำนวณภาษีเงินได้เป็นรายบุคคลจากราคาประเมินดังกล่าว คำนวณภาษีเงินได้ที่ต้องชำระคนละ 2,392,000 บาท จึงขอทราบว่าพนักงานเจ้าหน้าที่จัดเก็บ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ถูกต้องหรือไม่ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมาตรา 49 ทวิ, มาตรา 50(5), มาตรา 65 ทวิ (4), มาตรา 69 ตรีแนววินิจฉัยตามข้อเท็จจริง นางสาว ข. นาย ค. และบริษัท ก. จำกัด เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวม ในที่ดินแปลงดังกล่าวคนละหนึ่งส่วนตามมาตรา 1357 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อขายที่ดิน ได้เงิน 148,000,000 บาท แต่ละรายจึงได้เงินค่าขายรายละ 49,333,333.33 บาท การคำนวณ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย พิจารณาได้ดังนี้ 1. กรณีของบริษัทต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 69 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร และให้คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1 ตามส่วนของเงินได้ของบริษัทฯ โดยคำนวณ จากราคาขายตามความเป็นจริงหรือราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิ และนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ในวันที่มีการโอนนั้นแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า ปรากฏว่า ตามข้อเท็จจริงราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ทั้งแปลง 72,640,000 บาท เฉลี่ย 3 ส่วน ส่วนละ 24,213,333.33 บาท กรณีของบริษัท ก. จำกัด ราคาประเมินทุนทรัพย์ฯ ต่ำกว่าราคาขายจริงเฉลี่ย จึงต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 จากราคาขายจริงเฉลี่ย คือร้อยละ 1 ของราคา 49,333,333.33 บาท โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมในฐานะเป็น เจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 16 แห่งประมวลรัษฎากร ใช้อำนาจตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่ง ประมวลรัษฎากร 2. กรณีของบุคคลธรรมดา ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50 (5) (ข) แห่ง ประมวลรัษฎากร และให้คำนวณหักตามส่วนเงินได้ของแต่ละคน โดยคำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน ซึ่งเป็นราคาที่ใช้อยู่ใน วันที่มีการโอนนั้นตามมาตรา 49 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร ตามข้อเท็จจริง ให้คำนวณหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย จากราคา 24,213,333.33 บาท 3. กรณีที่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้รับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมได้รับชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ไว้ไม่ครบถ้วนถูกต้องตามข้อเท็จจริงดังกล่าว กรมสรรพากรจะได้แจ้งให้เจ้าพนักงานประเมิน สังกัดกรมสรรพากรทำการประเมินเรียกเก็บเพิ่มเติมตามบทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากรต่อไป ที่มา:หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/13824 ลงวันที่ 22 กันยายน 2541 |