Skip to Content

การขอคืนภาษี ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีอายุความการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีอายุความการขอคืนภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย


ข้อเท็จจริง

1. บริษัทฯ ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีภาษีชำระไว้เกิน จำนวนเงิน 7,969,796.74 บาท โดยไม่ได้แจ้งความประสงค์ขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลไว้

2. บริษัทฯ ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เพื่อขอคืน ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2556 จำนวนเงิน 7,969,796.74 บาท


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร

แนววินิจฉัย

บริษัทฯ ยื่นแบบ ภ.ง.ด.50 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มีภาษีชำระไว้เกิน จำนวน 7,969,796.74 บาท แต่บริษัทฯ มิได้ลงลายมือชื่อแจ้งความประสงค์ขอคืนเงินภาษีดังกล่าวไว้ ต่อมาบริษัทฯ ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร ( ค.10) เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2560 เพื่อขอคืนภาษีเงินได้ที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย และนำส่งไว้เกิน อันเป็นการใช้สิทธิขอคืนภาษีอากรภายหลังจากวันที่มาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557 มีผลบังคับใช้ เมื่อบริษัทฯ ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีจำนวนที่เกินกว่าที่ควรต้องเสียนั้นก่อนวันที่ 30 พฤษภาคม 2560 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาการยื่นคำร้องขอคืนภาษีสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2556 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ถือว่าบริษัทฯ ได้ใช้สิทธิขอคืนภาษีที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายและนำส่งแล้วต่อเจ้าพนักงานภายในสามปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นรายการภาษีตามมาตรา 63 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 38) พ.ศ. 2557




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ 0702/6493 ลงวันที่ 20 สิงหาคม 2561

Get notified when new articles are added to the knowledge base.

Powered by PHPKB (Knowledge Base Software)