ขอขยายเวลา ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการพิจารณาทบทวนขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ง.ด.54) และนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล


เรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรณีการพิจารณาทบทวนขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ง.ด.54) และนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล


ข้อเท็จจริง

1. บริษัท พ. จำกัด จดทะเบียนนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายไทย

ประกอบกิจการเป็นผู้ผลิต ส่งออก นำเข้า ซื้อขายสินค้าอุปโภค บริโภค เครื่องสำอางและเวชภัณฑ์ ฯลฯ

สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ถนนสุขุมวิท แขวงคลองตัน เขตคลองเตย กรุงเทพฯ

2. บริษัทฯ ได้ทำสัญญา "Service Agreement" กับบริษัท P Inc. สาขาในประเทศญี่ปุ่น

ซึ่งจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นสัญญาเกี่ยวกับการให้บริการทางด้านการตลาด

การขาย การเงิน และการจัดการทั่วไป ซึ่งไม่สามารถจัดหาได้ในประเทศไทย

3. ในการจ่ายเงินค่าบริการดังกล่าว บริษัทฯ มิได้หักภาษีนำส่งเนื่องจากบริษัทฯ เข้าใจว่า

บริษัท P Inc. เป็นวิสาหกิจซึ่งเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่น และมิได้มีสถานประกอบการถาวรใน

ประเทศไทย ดังนั้น ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่น เงินค่าบริการนี้ ถือว่า

เป็นเงินกำไรจากธุรกิจ และได้รับยกเว้นภาษีในประเทศไทย แต่ปรากฏว่า บริษัท P Inc. เป็นบริษัทที่

จดทะเบียน ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา และในช่วงเวลา 1 กรกฎาคม 2536 ถึง 31 พฤษภาคม 2541

ยังไม่มีอนุสัญญาภาษีซ้อนระหว่างประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้บริษัทฯ มีหน้าที่ต้องหักภาษี

เมื่อมีการจ่ายค่าบริการดังกล่าวข้างต้น บริษัทฯ ได้ยื่นแบบ ภ.ง.ด.54 นำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคลตั้งแต่

รอบระยะเวลาบัญชี 2536/2537 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2541 รวม 41 ฉบับ เป็น

ภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 90,149,736.21 บาท เงินเพิ่ม จำนวน 37,054,447.02 บาท

รวมเป็นภาษีที่ชำระทั้งสิ้น 127,204,183.23 บาท เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2542


กฎหมายที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 70, มาตรา 3 อัฏฐ

แนววินิจฉัย

1. กรณีบริษัท พ. จำกัด จ่ายเงินค่าบริการออกไปให้กับบริษัท P Inc. สาขาในประเทศ

ญี่ปุ่น บริษัทฯ มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินที่จ่ายโดยต้องยื่นแบบแสดงรายการและ

นำส่งภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 70 แห่ง

ประมวลรัษฎากร

เนื่องจากบริษัท P Inc. จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา จึง

ถือว่าเป็นผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และโดยที่อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนระหว่าง

ประเทศไทยกับประเทศสหรัฐอเมริกาในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีหัก ณ ที่จ่าย มีผลบังคับสำหรับจำนวนภาษีที่ได้

จ่ายหรือเครดิตในหรือหลังวันที่ 1 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ

ได้จ่ายเงินค่าบริการดังกล่าวออกไปก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2541 จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยว่า จะได้

สิทธิประโยชน์ตามอนุสัญญาหรือไม่

2. ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทฯ มิได้หักและนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา โดยเข้าใจผิดว่า

บริษัท P Inc. จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งอาจทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ได้รับยกเว้นภาษี

ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศไทยกับประเทศญี่ปุ่นเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนและป้องกันการหลีกเลี่ยง

รัษฎากรในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ กรณียังถือมิได้ว่ามีเหตุจำเป็นจนไม่สามารถจะปฏิบัติตาม

กำหนดเวลาได้ตามมาตรา 3 อัฏฐ แห่งประมวลรัษฎากร ดังนั้น จึงไม่อนุมัติขยายเวลายื่น

แบบแสดงรายการและนำส่งภาษีตามที่บริษัทฯ ขอมาแต่อย่างใด




ที่มา:

หนังสือข้อหารือกรมสรรพากร ที่ กค 0811/5210 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2545

Article Number: 437
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022

Online URL: https://www.paseetax.com/article/ขอขยายเวลา-ภาษีเงินได้นิติบุคคล-กรณีการพิจารณาทบทวนขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการ-ภ-ง-ด-54-และนำส่งภาษีเงินได้นิติบุคคล-437.html