บริษัท ก. จำกัด ประกอบกิจการให้เช่าอาคารและให้บริการสาธารณูปโภค รักษา
ความสะอาด และรักษาความปลอดภัย บริษัทฯ ได้เรียกเก็บเงินประกันการเช่าและเงินประกันการ
บริการตามสัญญาการเช่าและสัญญาการให้บริการ เพื่อประกันว่าผู้เช่าจะปฏิบัติตามสัญญาเช่าและสัญญา
บริการทุกประการ บริษัทฯ จึงขอทราบว่า
1. บริษัทฯ ไม่ต้องนำเงินประกันมาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เพราะเงินประกันนั้นไม่ได้
ก่อให้เกิดเป็นรายได้ของบริษัทฯ แต่อย่างใด อีกทั้งเงินประกันนั้นยังไม่ตกเป็นสิทธิของบริษัทฯ หรือเป็น
เงินที่บริษัทฯ พึงได้รับแต่ประการใด
2. บริษัทฯ ต้องนำเงินประกันมาคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ได้เงินประกันนั้นหรือไม่
1. กรณีตาม 1. เนื่องจากสัญญาเช่าอาคารศูนย์การค้าและสัญญาบริการดังกล่าว ผู้ให้เช่า
มีสิทธินำเงินประกันมาหักกลบกับค่าเช่าหรือค่าบริการที่ค้างชำระได้ กรณีถือว่าการหักกลบลบหนี้ดังกล่าว
เป็นการคืนเงินประกันแล้ว ดังนั้น
(1) กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินและสัญญาบริการที่มีอายุสัญญาไม่เกิน 3 ปี และ
เงินประกันที่บริษัทฯ เรียกเก็บไม่เกิน 6 เท่าของค่าเช่าหรือค่าบริการรายเดือน เงินประกันที่ได้รับ
ดังกล่าว บริษัทฯ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ 3 (2)
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 เรื่อง การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับ
การเรียกเก็บเงินจ่ายล่วงหน้า เงินประกัน เงินมัดจำ หรือเงินจอง ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541
ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541
(2) กรณีสัญญาให้เช่าทรัพย์สินและสัญญาบริการที่มีอายุสัญญาเกิน 3 ปี เงินประกันที่ได้
รับดังกล่าวบริษัทฯ ต้องนำมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (1) (ก)
แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย
คำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.74/2541 ฯ ลงวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2541 และหนังสือด่วนมาก ที่ กค
0811/ว.04068 ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2542
2. กรณีตาม 2. การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับเงินประกันการเช่าอาคารศูนย์การค้าและ
ให้บริการแยกพิจารณาได้ดังนี้
(1) กรณีการให้เช่าทรัพย์สินที่มิใช่อสังหาริมทรัพย์ หรือการให้บริการอื่น ต้องนำ
เงินประกันทั้งหมดที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการให้เช่าทรัพย์สิน หรือการให้บริการอื่น มารวมคำนวณเป็น
มูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79 แห่งประมวลรัษฎากร โดยถือว่าความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
เกิดขึ้นในขณะได้รับชำระเงินดังกล่าว ตามมาตรา 78/1 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2) กรณีการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เงินประกันที่เรียกเก็บถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าเช่า
อสังหาริมทรัพย์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 81 (1) (ต) แห่งประมวลรัษฎากร
ทั้งนี้ ตามข้อ 2 (3) แห่งคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 ฯ ลงวันที่ 30 มิถุนายน
พ.ศ.2541
Article Number: 355
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ฐานภาษีมูลค่าเพิ่ม-ภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม-กรณีการเรียกเก็บเงินประกันการเช่า-355.html