1.นาง ส.ได้ซื้อที่ดิน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2552 ต่อมา เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2552 นาง ส.ได้จดทะเบียนให้นางสาว พ. (บุตร) ถือกรรมสิทธิ์ร่วมในที่ดินดังกล่าวเป็นจำนวน 1 ใน 2 ส่วน
2.นาง ส. และนางสาว พ.ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินข้างต้นไว้เป็นประกันหนี้กับธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2552 ต่อมา เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2554 นาง ส. และนางสาว พ. ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินแปลงดังกล่าว พร้อมกับจดทะเบียนขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง (อพาร์ทเม้นต์) ให้แก่ (ผู้รับซื้อฝาก) มีกำหนดไถ่ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ทำสัญญา ซึ่งเจ้าพนักงานที่ดินได้เรียกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และภาษีธุรกิจเฉพาะ
3.เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 นาง ส. และนางสาว พ. ได้ไถ่ถอนการขายฝากที่ดินจากผู้รับซื้อฝาก และได้ชำระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ณ สำนักงานที่ดินไว้เป็นจำนวน 29,046 บาท ปรากฏตามใบเสร็จรับเงินในราชการกรมที่ดินเล่มที่ 54-033697 เลขที่ 19 และเลขที่ 23 ลงวันที่ 27 ธันวาคม 2554 เนื่องจากผู้รับซื้อฝากไม่ชำระค่าภาษีอากร
4.เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2555 นาง ส. และนางสาว พ. ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากร (ค.10) ที่ได้ชำระไว้ในวันที่ขายฝากที่ดิน ที่ได้ชำระไว้ในวันที่ไถ่ถอนการขายฝากที่ดิน เนื่องจากเห็นว่า การจดทะเบียนขายฝากและไถ่ถอนการขายฝากที่ดินนั้น ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
1.กรณีนาง ส. และนางสาว พ.ได้ขายฝากที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน (ไม่มีการบรรยายส่วนออกจากกันอย่างชัดเจน) ให้แก่ผู้รับซื้อฝากนั้น เข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร เงินได้จากการขายฝากอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และเมื่อการขายฝากอสังหาริมทรัพย์นั้น เข้าลักษณะเป็นการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไรตามมาตรา 4(6) แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร (ฉบับที่ 342) พ.ศ. 2541 เนื่องจากได้กระทำภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์นั้น การที่นาง ส. และนางสาว พ. ได้ถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และได้เสียภาษีธุรกิจเฉพาะไว้แล้ว นาง ส. และนางสาว พ. ย่อมมีสิทธิเลือกไม่ต้องนำเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นาง ส. และนางสาว พ. ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นคืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้นั้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 376) พ.ศ. 2544
2.กรณีนาง ส. และนางสาว พ. นำสินไถ่ไปไถ่ถอนอสังหาริมทรัพย์คืนจากผู้รับซื้อฝากภายในเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดนั้น ตามมาตรา 492 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติว่า ให้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินซึ่งขายฝากตกเป็นของผู้ไถ่ตั้งแต่เวลาที่ผู้ไถ่ได้ชำระสินไถ่ ดังนั้น การไถ่ทรัพย์สินซึ่งขายฝาก จึงเข้าลักษณะเป็นการ "ขาย" ตามมาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากร ผู้รับซื้อฝากจึงเป็นผู้มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร และมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อนางสาว พ. ผู้ขายฝาก ไม่ใช่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากเงินได้พึงประเมินดังกล่าว จึงไม่มีกรณีที่จะต้องมายื่นคำร้องขอคืนภาษีในกรณีนี้ได้ นางสาว พ. ผู้ขายฝาก จึงไม่มีสิทธิได้รับคืนภาษีเงินได้ตามที่ร้องขอแต่อย่างใด
Article Number: 2159
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ขอคืนภาษี-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-กรณีการขอคืนเงินภาษีอากรจากการขายฝากอสังหาริมทรัพย์-2159.html