1. บริษัท A จดทะเบียนในประเทศไทย ได้ว่าจ้างนาง B อยู่ในประเทศพม่า ให้เป็นตัวแทนขายโดยจ่ายค่าจ้างในอัตราคงที่เป็นประจำทุกเดือน โดยนาง B เดินทางมารับเงินในประเทศไทย บริษัท A ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย และนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่
2. บริษัทฯ ประกอบกิจการผลิตเมล็ดพันธุ์พืชเพื่อส่งออกและขายในประเทศ บริษัทฯ ได้ทดรองจ่าย ปุ๋ย ยา อุปกรณ์ทางการเกษตรให้แก่เกษตรกรในช่วงฤดูผลิต บันทึกบัญชีขายและภาษีขาย และมีการซื้อเมล็ดพันธุ์พืชจากเกษตรกร แต่เกษตรกรบางส่วนไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์หรือผลิตได้น้อยเนื่องจากภัยธรรมชาติ ทำให้ไม่มีมูลค่าเมล็ดหรือถ้ามีก็น้อยกว่าต้นทุนที่บริษัทฯ ทดรองจ่าย บริษัทฯ ถือว่าต้นทุนที่ทดรองจ่ายเป็นต้นทุนที่เกิดจากการผลิตในปีผลิต ตามสัญญาซื้อขายเมล็ดพันธุ์ลูกผสม
บริษัทฯ หารือว่า ต้นทุนที่บริษัทฯ ทดรองจ่าย ซึ่งไม่สามารถเรียกคืนจากเกษตรกรได้ ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้หรือไม่
1. ตามข้อ 1 แยกพิจารณาได้ดังนี้
(ก) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เงินค่าตอบแทนที่บริษัท A ในประเทศไทยจ่ายให้นาง B เนื่องจากเป็นตัวแทนขายซึ่งมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย และเข้ามารับเงินได้นั้นใน ประเทศไทย เข้าลักษณะเป็นเงินได้เนื่องจากการรับทำงานให้ ตามมาตรา 40(2) แห่งประมวลรัษฎากร บริษัท A ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินดังกล่าวมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ ตามมาตรา 50(1) วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร
(ข) ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนาง B เป็นตัวแทนขายสินค้าในต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นการให้บริการที่กระทำในต่างประเทศ และมิได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ไม่ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร ตามมาตรา 77/2 วรรคสาม แห่งประมวลรัษฎากร นาง B ไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/13 แห่งประมวลรัษฎากร บริษัทฯ ผู้จ่ายเงินค่าบริการจึงไม่มีหน้าที่ต้องนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.36) ตามมาตรา 83/6(2) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ตามข้อ 2. ปุ๋ย ยาและอุปกรณ์การเกษตรที่บริษัทฯ ทดรองจ่ายให้แก่เกษตรกร เพื่อนำไปเพาะปลูกเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสมซึ่งบริษัทฯ บันทึกบัญชีขาย โดยมีเงื่อนไขว่า เกษตรกรต้องชำระค่าสินค้าคืนให้แก่บริษัทฯ เป็นเงินสด หรือหักชำระจากเงินค่าซื้อเมล็ดพันธ์ลูกผสม ที่เกษตรกรผลิตได้นำมาขายให้แก่บริษัทฯ อันเข้าลักษณะเป็นการหักกลบลบหนี้ตามมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อเกษตรกรซึ่งเป็นลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ค่าสินค้าคืนให้แก่บริษัทฯ และลูกหนี้ดังกล่าวเข้าลักษณะเป็นลูกหนี้จากการประกอบกิจการเป็นปกติของบริษัทฯ บริษัทฯ มีสิทธิจำหน่ายหนี้สูญจากบัญชีลูกหนี้ได้ ตามมาตรา 65 ทวิ (9) แห่งประมวลรัษฎากร ต่อเมื่อเป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎกระทรวงฉบับที่ 186 (พ.ศ.2534)ฯ กรณีไม่ถือเป็นผลเสียหายอันเนื่องจากการประกอบกิจการที่ไม่มีประกัน ดังนั้น จึงต้องห้ามนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิของบริษัทฯ ตามมาตรา 65 ตรี(12) แห่งประมวลรัษฎากร
Article Number: 1758
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/แหล่งเงินได้-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-และภาษีมูลค่าเพิ่ม-กรณีจ่ายค่าบริการในต่างประเทศและรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ-1758.html