ขอหารือกรณีการจำหน่ายหนี้ภาษีอากรค้าง โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. สำนักงานสรรพากรจังหวัดได้ขออนุญาตจำหน่ายหนี้ ราย นาย ส. ซึ่งค้างชำระภาษีอากร
อยู่ที่ สำนักงานสรรพากรอำเภอเป็นเงิน 521,687,039 บาท ซึ่งกรมสรรพากรได้ฟ้องคดีล้มละลายกับ
ผู้ค้างภาษีอากร และศาลได้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2538 กรมสรรพากรได้ยื่น
ขอรับชำระหนี้เป็นเงิน 607,709,401 บาท ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ค้างภาษีอากรตกเป็นบุคคล
ล้มละลาย เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2543 เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้ง
ว่า คดีนี้ศาลได้มีคำสั่งให้กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้เป็นเงิน 592,587,566.15 บาท ซึ่งน้อยกว่า
จำนวนที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ไว้ จึงได้แต่งตั้งพนักงานอัยการจังหวัดพระนครศรีอยุธยายื่นอุทธรณ์คัดค้าน
คำสั่งศาลดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์
2. ผู้ค้างภาษีอากรได้ตกเป็นบุคคลล้มละลายเกินกว่า 3 ปี เข้าหลักเกณฑ์การจำหน่ายหนี้ตาม
ระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจำหน่ายหนี้ภาษีอากร พ.ศ. 2539 ข้อ 5.6 แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่
ระหว่างรอคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ กรณีการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาลที่สั่งให้กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้
น้อยกว่าที่ยื่นคำขอไว้ กรณีนี้จะสามารถจำหน่ายหนี้ภาษีอากรรายดังกล่าวได้หรือไม่
ตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจำหน่ายหนี้ภาษีอากร พ.ศ. 2539 ได้กำหนด
หลักเกณฑ์ไว้ดังนี้
"ข้อ 5 หลักเกณฑ์การขออนุญาตจำหน่ายหนี้ภาษีอากร หนี้ภาษีอากรที่จะขออนุญาตจำหน่าย
ออกจากบัญชีลูกหนี้ภาษีอากรได้ ต้องเป็นหนี้ภาษีอากรที่เจ้าหน้าที่ได้ทำการเร่งรัดถึงที่สุดแล้วไม่อาจ
เรียกเก็บได้เนื่องจาก...
5.6 ลูกหนี้ถูกฟ้องคดีให้ล้มละลาย ไม่ว่าจะโดยกรมสรรพากรหรือเจ้าหนี้อื่นเป็นโจทก์ก็ตาม
และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด ให้ลูกหนี้เป็นบุคคลล้มละลายแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือศาลได้มีคำสั่งปิด
คดีแล้ว..."
กรณีตามข้อเท็จจริง กรมสรรพากรได้ดำเนินคดีล้มละลายกับผู้ค้างภาษีอากร และศาลได้มี
คำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแล้ว กรมสรรพากรได้ยื่นขอรับชำระหนี้เป็นเงินจำนวน 607,709,401 บาท
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2539 ศาลได้มีคำพิพากษาให้ผู้ค้างภาษีอากรตกเป็นบุคคลล้มละลาย ซึ่ง
เกินกว่า 3 ปีแล้ว แต่เนื่องจากคดีนี้ศาลมีคำสั่งให้กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้เป็นเงิน
592,587,566.15 บาท ซึ่งไม่เต็มตามคำขอ จึงได้แต่งตั้งพนักงานอัยการยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำสั่งศาล
ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ กรณีดังกล่าวเห็นว่า กระบวนการพิจารณาในชั้น
ศาลยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีการอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งต้องรอคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่าจะให้
กรมสรรพากรได้รับชำระหนี้เป็นจำนวนเงินเท่าใด และคดียังไม่ปรากฏหลักฐานว่า
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์รวบรวมทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรได้หรือไม่ กรมสรรพากรจะได้รับส่วนแบ่ง
จากทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากรชำระหนี้หรือไม่ ประการใด ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงเห็นควรชะลอ
การจำหน่ายหนี้ภาษีอากรค้างรายนี้ไว้ก่อนจนกว่าจะทราบผลการพิจารณาของศาล และการแบ่งทรัพย์สิน
จากกองทรัพย์สินของผู้ค้างภาษีอากร
Article Number: 1639
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ยึดอายัด-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-กรณีการจำหน่ายหนี้ภาษีอากรค้าง-1639.html