นาย ก. ได้รับรางวัลจากการส่งไปรษณีย์บัตรทายผลฟุตบอลโลก 98 จากหนังสือพิมพ์เมื่อ
วันที่ 6 สิงหาคม 2541 เป็นเงินจำนวน 5,000,000 บาท หนังสือพิมพ์ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย
เป็นจำนวน 250,000 บาท นาย ก. ได้รับคำชี้แจงว่า จะต้องนำเงินได้จากเงินรางวัลที่ได้รับทั้งหมด
มาคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยจะหักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไม่ได้ แต่มีสิทธิหัก
ค่าใช้จ่ายได้ตามความเป็นจริงและสมควรเท่านั้น ซึ่งหากใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าว นาย ก. จะต้องเสีย
ภาษีเงินได้เป็นจำนวน 1,100,000 บาทเศษเมื่อรวมกับภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ที่หนังสือพิมพ์
ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินได้หักภาษีไว้แล้วเป็นเงิน 250,000 บาท ก็จะเป็นเงินภาษีทั้งสิ้นจำนวน
1,350,000 บาท นาย ก. ขอให้กรมสรรพากรพิจารณาอนุมัติให้คำนวณภาษีเงินได้โดยหักค่าใช้จ่ายเป็น
การเหมาในอัตราร้อยละ 65
เงินรางวัลที่ได้รับจากการชิงโชค ถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากรซึ่งตามมาตรา 8 แห่งพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วย
การกำหนดค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 กำหนดให้หัก
ค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละของเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่ง
ประมวลรัษฎากร ชนิดต่าง ๆ ไว้แล้ว แต่เงินรางวัลจากการชิงโชคนี้ตามมาตรา 8 แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว มิได้ระบุให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาไว้แต่อย่างใด ดังนั้นกรณีเงินได้
เงินรางวัลจากการชิงโชคจึงต้องหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควร โดยให้นำมาตรา 65 ทวิและ
มาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร มาใช้บังคับโดยอนุโลม ทั้งนี้ ตามมาตรา 8 ทวิ แห่ง
พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ในกรณีของ นาย ก. หากมีหลักฐานพิสูจน์ได้ว่ามี
ค่าใช้จ่ายจริง เช่น ใบเสร็จรับเงินค่าไปรษณีย์บัตร ก็ย่อมนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ สำหรับภาษีเงินได้
หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 250,000 บาท ที่ นาย ก. ได้ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายและนำส่งกรมสรรพากรไว้แล้ว
นั้น ให้ถือเป็นเครดิตภาษีที่จะนำมาใช้ในการคำนวณภาษีในตอนสิ้นปีได้ ตามมาตรา 3 เตรส และมาตรา
60 แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจาก พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนด
ค่าใช้จ่ายที่ยอมให้หักจากเงินได้พึงประเมิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2502 ได้กำหนดหลักเกณฑ์
การหักค่าใช้จ่ายของเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร ไว้อย่างชัดเจนและมี
ผลบังคับใช้แก่ผู้มีเงินได้เป็นการทั่วไป การที่กรมสรรพากรจะพิจารณาอนุมัติให้เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์
การหักค่าใช้จ่ายเป็นการเฉพาะรายจึงไม่อาจกระทำได้เพราะไม่มีบทบัญญัติในกฎหมายเปิดโอกาสให้
ดังนั้น กรณีการคำนวณภาษีเงินได้เงินรางวัลจากการชิงโชคของ นาย ก. จึงต้องหักค่าใช้จ่ายตาม
ความจำเป็นและสมควรตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวข้างต้น
Article Number: 1449
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ค่าใช้จ่าย-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-กรณีการหักค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้เงินรางวัลจากการชิงโชค-1449.html