ตามที่ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เมื่อวันที่
11 ตุลาคม 2540 เป็นต้นมา ศาลรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรหนึ่งที่ได้จัดตั้งขึ้นโดยรัฐธรรมนูญนี้และต่อมาเมื่อ
วันที่ 11 เมษายน 2541 ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานศาลรัฐธรรมนูญและ
ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ รวม 13 ท่าน
คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่นับแต่วันที่ได้มีพระบรมราชโองการ
โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นมา โดยไม่ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทน
อย่างอื่น เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายในเรื่องนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ คาดหมายว่าร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน
เงินประจำตำแหน่ง และประโยชน์ตอบแทนอื่น ของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ
จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภาและมีผลใช้บังคับในราวต้นเดือนมกราคม 2542 ซึ่งจะเป็นผลให้ประธาน
ศาลรัฐธรรมนูญและตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้รับเงินเดือน และเงินประจำตำแหน่งตกเบิกย้อนหลังตั้งแต่
วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นเวลาหลายเดือน ทำให้เงินที่ได้รับนั้น
ต้องมารวมคำนวณภาษีเงินได้เป็นเงินได้ของปีที่รับเงินดังกล่าวอันจะเป็นภาระภาษีของผู้มีเงินได้
(ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ) เป็นอย่างมาก รวมทั้งจะต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย ในคราวเดียวกันที่จ่าย
เงินเดือน ฯลฯ เป็นจำนวนเงินมาก ทั้ง ๆ ที่มิใช่เป็นความผิดของผู้มีเงินได้แต่ประการใด ดังนั้น จึง
สมควรที่จะแบ่งเงินได้ออกจากจำนวนปีที่สมควรจะได้รับ และคำนวณภาษีหัก ณ ที่จ่ายออกเป็นปี ๆ แล้ว
ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเสียภาษีเงินได้ประจำปีภายในเดือนมีนาคมของปีถัดไปจากปีที่รับ
เงินได้โดยถือแนวปฏิบัติตามประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การเสียภาษีเงินได้และการขยายเวลา
ชำระภาษีสำหรับผู้ที่ต้องออกจากราชการหรือออกจากงานโดยไม่มีความผิด ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.
2535 โดยอนุโลมด้วย ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระภาษีและเพื่อความเป็นธรรมของบุคคลผู้มีเงินได้
(ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ)
เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นที่คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีสิทธิ
ได้รับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2541 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2541 แต่คาดว่าจะได้รับในต้นปี 2542
เนื่องจากต้องรอจนกว่าการร่างพระราชบัญญัติเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่น
ของประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญฯ จะผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งจะมีผลใช้
บังคับประมาณต้นปี 2542 ดังนั้น เงินเดือน เงินประจำตำแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นดังกล่าว จึงถือ
เป็นเงินได้พึงประเมินของปีภาษี 2541 และมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีภายใน
กำหนดเวลาดังนี้
1. กรณีได้รับเงินตกเบิกภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542 มีสิทธิยื่นแบบและชำระภาษี
ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2542 โดยไม่ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
เนื่องจากเป็นการยื่นแบบภายในกำหนดเวลา
2. กรณีได้รับเงินตกเบิกหลังวันที่ 31 มีนาคม 2542 ถือเป็นกรณีที่มีเหตุจำเป็นจนไม่
สามารถจะยื่นแบบแสดงรายการได้ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 3 อัฎฐ แห่งประมวลรัษฎากร จึง
อนุมัติให้ขยายกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2541
ของคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกไปอีก 15 วัน นับแต่วันได้รับเงินตกเบิกดังกล่าว ซึ่งจะมีผลทำให้
ไม่ต้องรับผิดเสียค่าปรับอาญา กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา 35 แห่ง
ประมวลรัษฎากร และได้รับการลดเงินเพิ่มลงคงเสียในอัตราร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
ตามมาตรา 27 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร
Article Number: 1438
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/ขอขยายเวลา-ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา-กรณีได้รับเงินเดือนย้อนหลัง-1438.html