การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เปิดเลตเตอร์ออฟเครดิต (L/C) ผ่าน
ธนาคาร ก เพื่อสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศ เมื่อธนาคารในต่างประเทศส่งเอกสารมาเรียกเก็บเงินค่า
สินค้า จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมมาพร้อมกับค่าสินค้าด้วย ค่าธรรมเนียมดังกล่าวเป็นรายได้ของธนาคาร
ในต่างประเทศ มิใช่รายได้ของธนาคาร ก ธนาคาร ก ได้จ่ายเงินค่าสินค้าและค่าธรรมเนียมแทน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไปก่อน แล้วจึงมาเรียกเก็บกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ปรากฏว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
ได้หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ร้อยละ 1.0 และนำส่งกรมสรรพากร ตามมาตรา 69 ทวิ แห่ง
ประมวลรัษฎากร
ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ธนาคาร ก ได้จ่ายไป มีดังนี้
1. ค่าขอเปิด L/C (OPENING COMMISSION)
2. ค่า PAYMENT COMMISSION
3. ค่า ADVISING COMMISSION
4. ค่า COST OF CABLE/TELEX/SWIFT
5. ค่า COST OF AIRMAIL POSTAGE
6. ค่า AMENDENT COMMISSION
7. ค่า CANCELLATION หรือ UNUSED L/C
8. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง ยกเว้นค่าอากรแสตมป์
สำหรับค่าธรรมเนียมดังกล่าวข้างต้นที่ธนาคาร ก คิดว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ สามารถ
หักภาษีเงินได้ไว้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 1.0 มีดังนี้
ด้านแอลซีในประเทศ (DOMESTIC L/C)
- ค่าธรรมเนียมในการเปิด L/C ในประเทศ
- ค่า PAYMENT COMMISSION
- ค่า INTEREST
- ค่าธรรมเนียมในการแก้ไข L/C
ด้านแอลซีต่างประเทศ (FOREIGN L/C)
- ค่าธรรมเนียมในการเปิด L/C
- ค่าธรรมเนียมในการแก้ไข L/C
สำหรับค่าธรรมเนียมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตไม่มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายเพราะเป็น
ค่าธรรมเนียมที่ธนาคารในต่างประเทศเรียกเก็บ ธนาคาร ก เป็นเพียงผู้จ่ายเงินแทนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ
ไปก่อนเท่านั้น มิใช่รายได้ของธนาคาร มีดังนี้
- ADVISING COMMISSION
- PAYMENT COMMISSION
- CANCELLATION COMMISSION
- UNUSED L/C
ธนาคาร ก เห็นว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายในส่วนที่
เป็นเงินได้ของธนาคารในต่างประเทศ จึงขอทราบว่าความเห็นของธนาคาร ก ดังกล่าวถูกต้องหรือไม่
1. กรณีค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ธนาคาร ก เรียกเก็บจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต
แห่งประเทศไทย เพื่อเป็นรายได้ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นด้านแอลซีในประเทศ หรือด้านแอลซี
ต่างประเทศ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ของธนาคาร ก ที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จึงมีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย เมื่อจ่ายเงินค่าธรรมเนียมให้แก่ธนาคาร ก
ในอัตราร้อยละ 1 ตามมาตรา 69 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ธนาคาร ก เรียกเก็บจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ แทนธนาคาร
ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้
ประกอบกิจการในประเทศไทย นั้น ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้ของธนาคาร ก ที่จะต้องนำมารวมคำนวณ
เพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลเมื่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ จ่ายเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวให้แก่ธนาคาร ก จึง
ไม่ ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
3. กรณีธนาคาร ก จ่ายเงินค่าธรรมเนียมตาม 2. ต่อไปให้แก่ธนาคารในต่างประเทศ
ซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ และมิได้ประกอบกิจการใน
ประเทศไทย ธนาคาร ก มีหน้าที่ต้องหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 15 และนำภาษีดังกล่าว
ส่งกรมสรรพากรภายใน 7 วัน นับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จ่ายเงินได้นั้น ตามมาตรา 70 แห่ง
ประมวลรัษฎากร เว้นแต่จะมีอนุสัญญาภาษีซ้อนกำหนดเป็นอย่างอื่น
Article Number: 135
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/จ่ายเงินได้ไปต่างประเทศ-ภาษีเงินได้นิติบุคคลหัก-ณ-ที่จ่าย-135.html