ห้างฯ เป็นผู้ประกอบการนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ และเครื่องจักร โดยมีข้อเท็จจริงดังนี้
1. ห้างฯ นำเข้าสินค้าประเภทเครื่องจักรชนิดที่มีแผงวงจรอีเล็คโทรนิคควบคุม (INVERTER) ซึ่งเทคโนโลยีต่าง ๆ มีการพัฒนาตลอดเวลา ทำให้สินค้าที่ห้างฯ นำเข้ามาตกรุ่น ตลอดจนมีสินค้าราคาถูกจากประเทศจีนเข้ามาแข่งขัน ทำให้ห้างฯ ไม่สามารถแข่งขันในด้านราคาได้ จึงมีสินค้าค้างสต็อคเป็นจำนวนมาก และในปัจจุบันสินค้าดังกล่าวเสื่อมสภาพ
2. ในการขายสินค้าประเภทเครื่องจักร ห้างฯ จะต้องนำสินค้าให้ลูกค้าทดลองใช้งาน เมื่อลูกค้าพอใจ จึงจะตกลงซื้อสินค้ากับห้างฯ โดยห้างฯ จะต้องจัดส่งสินค้าใหม่ให้แก่ลูกค้า เป็นเหตุให้ห้างฯ มีชิ้นส่วนอะไหล่ที่นำไปใช้ทดสอบคงเหลือจำนวนมาก
3. ห้างฯ ขายสินค้าประเภทเครื่องจักร โดยมีระยะเวลารับประกันคุณภาพสินค้า บางกรณีลูกค้านำสินค้าไปใช้ไม่ถูกต้อง ทำให้ชิ้นส่วนอะไหล่ชำรุดเสียหาย ซึ่งห้างฯ จะส่งไปให้ผู้ผลิตในต่างประเทศตรวจพิสูจน์สาเหตุ และอนุมัติเคลมสินค้า ซึ่งบางกรณีไม่สามารถเคลมได้ และผู้ผลิตในต่างประเทศได้ส่งชิ่นส่วนดังกล่าวคืนกลับมา แต่ห้างฯ ได้เปลี่ยนชิ้นส่วนใหม่ให้ลูกค้าแล้ว และไม่สามารถเรียกเก็บค่าอะไหล่ได้ กรณีดังกล่าวห้างฯ จึงมีสินค้าชำรุดเป็นจำนวนมาก
ห้างฯ จึงขอทราบว่า
1. ห้างฯ จะขายสินค้าที่ตกรุ่นในราคาที่ต่ำกว่าราคาตลาดได้หรือไม่ และมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร
2. ห้างฯ จะตัดมูลค่าทางบัญชีของชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ และอะไหล่ที่ถูกใช้ในการทดสอบเครื่องจักรได้หรือไม่ และมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร
3. ห้างฯ จะต้องทำการตัดมูลค่าทางบัญชีของชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ และอะไหล่ที่ถูกใช้ในการเคลมที่ผิดเงื่อนไขให้แก่ลูกค้า และมีขั้นตอนการปฏิบัติอย่างไร
1. กรณีห้างฯ ขายสินค้าที่ตกรุ่น ห้างฯ ต้องคำนวณราคาขายให้เป็นไปตามราคาตลาด โดยได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าตกรุ่น ทั้งนี้ หากการขายสินค้าดังกล่าวต่ำกว่าราคาตลาดโดยไม่มีเหตุสมควร เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินราคาสินค้าตามราคาตลาดในวันที่มีการขายสินค้าได้ตามมาตรา 65 ทวิ (4) แห่งประมวลรัษฎากร
2. กรณีตาม 2. และ 3. หากห้างฯ ได้ทำลายหรือขายไปซึ่งสินค้าที่ชำรุดบกพร่องนั้น ห้างฯ มีสิทธิตัดต้นทุนที่เหลือเป็นรายจ่ายได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร โดยการทำลายสินค้า ห้างฯ จะต้องตรวจสอบสภาพสินค้าตามเงื่อนไขที่ห้างฯ กำหนดไว้ และได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจในการพิจารณาให้เป็นสินค้าชำรุดบกพร่องตามเงื่อนไขที่กำหนด และแจ้งการทำลายให้สรรพากรพื้นที่ในท้องที่ที่รับผิดชอบทราบล่วงหน้า 30 วันก่อนทำลายซึ่งสรรพากรพื้นที่อาจส่งเจ้าหน้าที่ไปดูการทำลายด้วยก็ได้ตามความเหมาะสมแล้วแต่กรณีเว้นแต่ การทำลายของเสียหรือเศษซากของห้างฯ ที่ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานราชการซึ่งมีเจ้าหน้าที่ของหน่วยราชการนั้นควบคุมเกี่ยวกับการทำลายตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนด ห้างฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ สรรพากรร่วมเป็นพยานในการทำลายก็ได้
Article Number: 1025
Author: Thu, Jul 28, 2022
Last Updated: Thu, Jul 28, 2022
Online URL: https://www.paseetax.com/article/โอนทรัพย์สิน-ให้บริการ-หรือให้กู้ยืมเงิน-โดยไม่มีค่าตอบแทน-ภาษีเงินได้นิติบุคคล-กรณีขายสินค้าต่ำกว่าราคาตลาด-1025.html