พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 452) พ.ศ. 2549 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 452) พ.ศ. 2549 ---------------------- ภูมิพลอดุลยเดช ป.ร. ให้ไว้ ณ วันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2549 เป็นปีที่ 61 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 221 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 3(2) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 อันเป็นกฎหมายที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 และมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 452) พ.ศ. 2549” มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้แก่บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย รัฐบาลแห่งประเทศมาเลเซีย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ว่าด้วยความร่วมมือด้านยางพาราได้กำหนดให้ภาคีจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ในประเทศไทย เพื่อทำหน้าที่ในการซื้อ ขาย บริหารยางพารา และรักษาเสถียรภาพระดับราคายางพาราทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งกำหนดให้ประเทศผู้ร่วมลงทุนยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด ดังนั้น เพื่อให้เป็นไปตามบันทึกความเข้าใจดังกล่าว จึงจำเป็นต้องราพระราชกฤษฎีกานี้ (ร.จ. ฉบับกฤษฎีกา เล่ม 123 ตอนที่ 28 ก วันที่ 20 มีนาคม 2549) |