พระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 757) พ.ศ. 2565 การยกเว้นรัษฎากร สำหรับการจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง
พระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 757) พ.ศ. 2565 ----------------------- พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในบางกรณี อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 757) พ.ศ. 2565” มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชกฤษฎีกานี้ “จังหวัดท่องเที่ยวรอง” หมายความว่า เขตจังหวัดกาฬสินธุ์ จังหวัดกำแพงเพชร จังหวัดจันทบุรี จังหวัดชัยนาท จังหวัดชัยภูมิ จังหวัดชุมพร จังหวัดเชียงราย จังหวัดตรัง จังหวัดตราด จังหวัดตาก จังหวัดนครนายก จังหวัดนครพนม จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดน่าน จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดปัตตานี จังหวัดพะเยา จังหวัดพัทลุง จังหวัดพิจิตร จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดแพร่ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดมุกดาหาร จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดยโสธร จังหวัดยะลา จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดระนอง จังหวัดราชบุรี จังหวัดลพบุรี จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดลำพูน จังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดสกลนคร จังหวัดสตูล จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสิงห์บุรี จังหวัดสุโขทัย จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอ่างทอง จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดอุดรธานี จังหวัดอุตรดิตถ์ จังหวัดอุทัยธานี และจังหวัดอุบลราชธานี มาตรา 4 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้ตามส่วน 3 หมวด 3 ในลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร สำหรับเงินได้ที่ได้จ่ายไปในการอบรมสัมมนาภายในประเทศที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง ดังต่อไปนี้ (1) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละหนึ่งร้อยของรายจ่ายในการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง ณ ท้องที่ในจังหวัดท่องเที่ยวรองหรือในเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดที่อธิบดีประกาศกำหนด (2) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายในการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้าง ณ ท้องที่อื่นซึ่งมิใช่ท้องที่ตาม (1) (3) สำหรับเงินได้เป็นจำนวนร้อยละห้าสิบของรายจ่ายในการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจัดให้แก่ลูกจ้างในท้องที่ต่อเนื่องกัน ระหว่างท้องที่ตาม (1) และท้องที่อื่นซึ่งมิใช่ท้องที่ตาม (1) และเป็นรายจ่ายในการอบรมสัมมนาที่ไม่สามารถแยกได้โดยชัดแจ้งว่าส่วนใดเป็นรายจ่ายที่เกิดขึ้นในท้องที่ใด การประกาศกำหนดเขตพื้นที่ท่องเที่ยวอื่นใดตาม (1) ให้อธิบดีกำหนดโดยคำแนะนำของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มาตรา 5 การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 4 ต้องเป็นรายจ่ายที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 ทั้งนี้ เฉพาะรายจ่าย ดังต่อไปนี้ (1) ค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้องกับการอบรมสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลจ่าย (2) ค่าบริการที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์เพื่อการอบรมสัมมนา การได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด มาตรา 6 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
------------------------------------------------------------------------------------------------------------ หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองและในจังหวัดท่องเที่ยวอื่นภายในประเทศให้เพิ่มมากขึ้น เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ สมควรยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จัดให้มีการอบรมสัมมนาภายในประเทศให้แก่ลูกจ้าง สำหรับเงินได้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2565 จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
(เล่ม 139 ตอนที่ 69 ก ราชกิจจานุเบกษา 8 พฤศจิกายน 2565) |